✅จังหวัดกระบี่ เดินหน้าแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ นำร่อง 3 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองกระบี่ อบต.อ่าวนาง และ
อบต.ไสไทย
📌วันที่ 8 มกราคม 2568 เวลา 13.30 น นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
มอบหมายให้ นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุม
คณะทำงานแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็น
แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ โดยมีคณะทำงาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ห้องประชุมปลายพระยา ศาลากลางจังหวัดกระบี่ 9/10
✅นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก กอปรกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ 2566-2570) มุ่งเน้นการตอบสนองการแก้ไขปัญหาสำคัญอันจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดกระบี่ ภายใต้การพัฒนาแผนการขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณค่าสูง
📌ซึ่งปัญหาการรบกวนจากสุนัขและแมวจรจัด เป็นอีกปัญหาที่สำคัญในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากสุนัข หรือแมว ไปกัดหรือทำร้ายนักท่องเที่ยวก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดกระบี่
📌 ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดขึ้น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยมีบทบาทหน้าที่การกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาสุนัขแมวจรจัด และตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการแจ้งหรือร้องเรียน และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเมื่อพบการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่รับผิดชอบ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์พักพิงสัตว์ โดยมีการปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น พ.ร.บ.การป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมทั้งข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
✅รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จากการที่ได้มีการหารือในที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้น ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด นำร่องใน 3 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง และองค์การบริหารส่วนตำบลไสไทย
ซึ่งส่วนหนึ่งทั้ง 3 อปท.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะมีการทำงานในเชิงรุกและบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เช่นการลงพื้นที่สำรวจสุนัขจรจัดที่ดุร้ายเพื่อจับมาทำหมัน ฉีดวัคซีนและกักกันไว้ชั่วคราวที่ศูนย์พักพิงของ อบต. การขึ้นทะเบียนสุนัข แมวที่มีเจ้าของ การฉีดวัคซีน ทำหมัน เป็นต้น
📌พร้อมทั้งได้มีการมอบหมายให้ปศุสัตว์จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ไปดูเรื่องข้อบังคับตำบลหรือเทศบัญญัติของเทศบาลที่เกี่ยวกับการควบคุมการเลี้ยง หรือการปล่อยสัตว์ เพื่อก็เอาเป็นตัวต้นแบบ แล้วส่งให้แต่ละทุกถิ่นไปปรับให้ครอบคลุมเพื่อจะป้องกันในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จะได้ไม่โดนฟ้องร้องกลับ ให้มีกฎหมายระเบียบข้อบังคับรับรองไว้
📌อีกทั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขอความร่วมมือทุกท้องถิ่นเตรียมบุคลากรไว้เพื่อเข้ารับการอบรมฝึกการเป่ายาสลบ การฉีดวัคซีน และการฝังไมโครชิปสุนัข จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
📌พร้อมทั้งให้มีการเพิ่มเติมในคำสั่งคณะทำงานระดับจังหวัด โดยเพิ่มองค์กรภาคเอกชนด้วย เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด เป็นต้น ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต้องหาที่ดินและงบประมาณเพื่อก่อสร้างศูนย์พักพิงสุนัข- แมวจรจัด ซึ่งต้องมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง..
📌Cr.ส.ปชส.กระบี่ ภาพ/ข่าว
0 ความคิดเห็น